วันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) ตรงกับวันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันสากลสำหรับการศึกษาด้านสุขภาพจิต ระดับโลก การตระหนักรู้และการสนับสนุนต่อต้านการตีตราทางสังคม เป็นวันสำคัญที่ทั่วโลกร่วมกันรณรงค์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ ปัญหาสุขภาพจิต และส่งเสริมการดูแลสุขภาพจิตอย่างจริงจัง
ประวัติและที่มประวัติและที่มา
วันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) ริเริ่มจากองค์การสหพันธ์สุขภาพจิตโลก (World Federation for Mental Health : WFMH) ร่วมกับ สมาคมนานาชาติ เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย (International Association for Suicide Prevention : IASP) สนับสนุนโดยองค์การอนามัยโลก เกิดขึ้นครั้งแรกวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2535
ปัญหาของสุขภาพจิต มีความสำคัญต่อสังคมทุกด้านของผู้คน ในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคม หากเริ่มต้นในวัยเด็ก ก็จะมีผลการเรียนต่ำลง มีความวิตกไม่อยากไปเรียนหนังสือ ซุกซน ก้าวร้าว ดื้อรั้น ในวัยผู้ใหญ่ก็จะเป็นผู้ที่มีความกังวลสูง ท้อแท้ สับสน มีพฤติกรรมการกินหรือการนอนที่เปลี่ยนไป รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง รวมไปถึงความคิดที่จะใช้ยาเสพติด หรือ ฆ่าตัวตาย
สัญลักษณ์และความหมาย
ริบบิ้นสีเขียว (Green ribbon) เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แทนการรับรู้และให้ความสำคัญกับสุขภาพจิต การสวมใส่หรือแสดงริบบิ้นสีเขียวเป็นการสื่อสารถึงความใส่ใจในสุขภาพจิตของตนเองและผู้อื่น
5 โรคสำคัญทางจิตเวชที่คนไทยควรรู้
1.โรคแพนิค โรคตื่นตระหนกเกิดขึ้นจากระบบประสาทอัตโนมัติมีการทำงานที่ไวต่อสิ่งกระตุ้น ทำให้มีอาการแพนิค ได้แก่หัวใจเต้นเร็ว หายใจติดขัด จุกแน่น เวียนศีรษะ คล้ายจะเป็นลม หรือเหมือนกับจะถึงชีวิต กังวลอยู่ตลอดเวลาว่าจะมีอาการเกิดขึ้นมาอีกหรือกลัวผลที่ตามมา เช่น ควบคุมตนเองไม่ได้ เป็นบ้า มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน โดยเกี่ยวเนื่องกับอาการ เช่นไม่กล้าไปไหนถ้าไม่มั่นใจว่าจะมีคนช่วยได้ไหม หมกมุ่นกังวลกลัวเป็นโรคหัวใจ
2.โรคซึมเศร้า ผู้ป่วยจะมีอาการหดหู่ ท้อแท้ เบื่อหน่าย รู้สึกไม่มีคุณค่าในตนเอง บางรายอาจไม่รู้สึกเศร้าแต่จะเบื่อหน่ายทุกอย่างรอบตัว และไม่รู้จะอยู่ต่อไปเพื่ออะไร ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษามีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูงหากมีอาการของโรคซึมเศร้านานเกิน 2 สัปดาห์ ควรพบแพทย์เพื่อประเมินว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะอารมณ์เปลี่ยนแปลงไป เศร้า หดหู่ สะเทือนใจง่าย ร้องไห้บ่อย ความคิดเปลี่ยนแปลง มองทุกอย่างแย่ไปหมด รู้สึกไร้คุณค่า หรือคิดว่าตนเองเป็นภาระของผู้อื่น มองเห็นแต่ความผิดพลาดของตนเอง รู้สึกสิ้นหวังอาจมีความคิดอยากตาย สมาธิความจำแย่ลง หลงลืมง่าย จิตใจเหม่อลอย ประสิทธิภาพการทำงานลดลง มีอาการทางร่างกายต่างๆ อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดหัว เมื่อยตัว
3.โรคจิตเภท ผู้ป่วยจะมีอาการประสาทหลอน หูแว่ว มีภาพหลอนเกิดขึ้นและจะแสดงออกโดยการพูดคนเดียว หัวเราะคนเดียว มีความหลงผิดหรือหวาดระแวง โรคจิตเภทเป็นโรคเรื้อรัง การรักษาจะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น แต่จะต้องใช้ยาไปตลอดชีวิต ผู้ป่วยบางรายเมื่อพบว่าตนเองอาการดีขึ้น มักคิดว่าหายแล้วและหยุดใช้ยา ทำให้อาการกำเริบขึ้นมาอีก
4.โรคไบโพลาร์ โรคไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์สองขั้ว เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ของผู้ป่วยที่เปลี่ยนแปลงไปมาระหว่างช่วงซึมเศร้าและช่วงที่อารมณ์ดีเกินปกติ โดยในช่วงซึมเศร้าจะมีอาการหดหู่ ท้อแท้ สิ้นหวัง อาการช่วงนี้จะเหมือนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า อาการจะคงอยู่ติดต่อกันนานหลายเดือนแล้วหายไปเหมือนคนปกติก่อนจะเข้าสู่ช่วงอาการแมเนีย ซึ่งจะมีอารมณ์คึกคัก มีพลัง ใจดีมนุษยสัมพันธ์ดี อารมณ์ดี แต่มีปัญหาในเรื่องของการควบคุมอารมณ์ของตนเอง อยากทำอะไรแล้วต้องได้ทำทันที เมื่อมีคนขัดใจผู้ป่วยจะฉุนเฉียวมาก หงุดหงิดง่าย ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้เลย
5.โรคสมองเสื่อม พบมากในคนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป คนเป็นโรคสมองเสื่อมไม่ใช่คนที่หลงลืมในลักษณะใจลอยเช่น วางกุญแจไว้แล้วลืมว่าตนเองวางไว้ตรงไหน แบบนั้นเป็นอาการใจลอย สมาธิไม่ได้อยู่กับเรื่องที่ทำ แต่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม โรคนี้มีลักษณะคือไม่สามารถจดจำสิ่งที่เรียนรู้ใหม่ได้ หรือสามารถเล่าเรื่องในอดีตได้ แต่ไม่สามารถจำได้ว่าเมื่อเช้ากินอะไรมา เป็นต้น
การมีส่วนร่วมในวันสุขภาพจิตโลก
1. สวมใส่ริบบิ้นสีเขียวเพื่อแสดงการสนับสนุน
2. ร่วมกิจกรรมรณรงค์และให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตในชุมชน
3. เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตและวิธีการดูแลตนเอง
4. สนับสนุนเพื่อนหรือคนใกล้ชิดที่อาจกำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต
5. พูดคุยเปิดใจเกี่ยวกับประสบการณ์ด้านสุขภาพจิตเพื่อลดการตีตรา
6. แนะนำให้ไปพบแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เช่น จิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยา สามารถเริ่มจากการไปที่โรงพยาบาล
อย่างไรก็ตาม หากใครกำลังมีปัญหา อยากจะลองคุยกับนักจิตวิทยาหรือ พบจิตแพทย์ สามารถปรึกษาจิตแพทย์ได้ ที่โรงพยาบาลกุมภวาปี แผนก คลินิกจิตเวช เปิดบริการทุกวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.00-16.00 น. ตั้งอยู่ที่ ชั้น G อาคารอุบัติเหตุฉุกเฉิน
ที่อยู่โรงพยาบาลกุมภวาปี : เลขที่ 97 หมู่ 7 ต.กุมภวาปี อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี 41110
โทรศัพท์ : 042-334412-3 ต่อ 5408 (ในเวลาราชการ)
Fanpage : KUMHOS Facebook Fanpage
เว็บไซต์ https://kumpawapihospital.go.th/newsite/clinic.php?view=1
ทั้งนี้ ทางเพจ เฟสบุ๊ค ก้าวหน้ากุมภวาปี FM 89.50 MHz ตระหนักและให้ความสำคัญของภาวะสุขภาพจิตที่ดี เป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยจิตเวชให้เข้ารักษาตัว และเมื่อหายแล้วก็กลับมาฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ ในภาวะอารมณ์ที่เข้มแข็ง
ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)/ ศูนย์วิทยบริการศาลยุติธรรมเฉลิมพระเกียรติ ห้องสมุดศาลยุติธรรม /กรมสุขภาพจิต/ ไทยรัฐ ออนไลน์
#วันสุขภาพจิตโลก#วันสุขภาพจิตโลก2567#วิทยุในกุมภวาปี#หจกพลัสมีเดีย#วิทยุกุมภวาปี#วิทยุหงษ์เหิร#ก้าวหน้ากุมภวาปี