กุมภวาปีมีฐานะเป็นเมือง จะตั้งเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่จากตำนานพื้นเมือง “ผาแดง-นางไอ่” ได้กล่าวว่า เมืองกุมภวาปีมีมาแต่สมัยขอมเรืองอำนาจในดินแดนนี้มีชื่อเดิมว่า”ชทีตานคร” หรือ “เพตานคร” ปกครองโดยพญานาคที่ปลอมตัวขึ้นมาดูความงามของนางไอ่คำ ต่อมาเมืองชทีตานครได้ล่มจม เพราะเกิดศึกชิงนางไอ่คำขึ้น ระหว่างท้าวผาแดงแห่งเมืองเผาพงศ์ ภูเขาควาย ประเทศลาว กับท้าวพังคี บุตรพญานาค แห่งเมืองนาตาล ศีกครั้งนั้นทำให้เมืองชทีตานครล่มจนกลายเป็นหนองหาน อ.กุมภวาปี เท่าทุกวันนี้
เมื่อถึงปลายรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีกลุ่มชนจากท้องที่ต่างๆ เช่นกลุ่มของนายชาญ นางเลา หมื่นประเสริฐ ต้นตระกูล “ชาญนรา” และกลุ่มของมหาเสนาต้น ตระกูล “ฮามไสย์” เป็นต้น ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณลุ่มน้ำหนองหาน
เนื่องจากอยู่ใกล้หนองน้ำใหญ่ มีปลาชุกชุม ประชาชนจีงมีอาชีพปั้นหม้อดินเผา และจับปลาน้ำจืด หมู่บ้านนี้จึงมีชื่อว่า “บ้านบึงหม้อ”
ในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระวรฤทธิฤาไชย ผู้ครองเมืองได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานตราตั้งชื่อเมืองนี้ เป็นทางการว่า “กุมภวาปี” เพื่อให้สอดคล้องกับภูมิประเทศและชื่อหมู่บ้าน ซึ่งมาจากคำว่า “กุมภะ” แปลว่า หม้อ กับ “วาปี” แปลว่า หนองหรือบึง คำว่า “กุมภวาปี” นามนี้ จึงปรากฏหลักฐานตั้งแต่นั้นมา
และจากการบันทึกการเสด็จการครวจราชการ ของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยคนแรก ซึ่งได้มาตรวจราชการมณฑลอุดร และมณฑลอีสาน ได้บันทึกเรื่องการเสด็จตรวจราชการและจัดพิมพ์ไว้ เมื่อปีวอก พ.ศ. 2463 มีความตอนหนึ่งว่า “…ข้ามห้วยอ้ายเต้นถึงเขตรเมืองกุมภวาปี เมืองนี้ยกเอาบ้านบึงหม้อ ตั้งขึ้นเปนเมือง เมื่อรัชกาลที่ 5 พระวรฤทธิฤาไชยผู้ว่าราชการเมืองกุมภวาปี มารับ…”
นอกจากนี้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังได้เสด็จไปเที่ยวรอบหนองหาน และได้ทรงบันทึกเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับหนองหาร(ปัจจุบันเขียน”หนองหาน”) ไว้ว่า “…หนองหารนี้มีชื่อเสียงมาในพงศาวดารเป็นบึงใหญ่กว้างมาก มีชาวบ้านตั้งหาปลาอยู่โดยรอบ ทางเดินรอบหนองหารประมาณสองวัน มีท่าลงหนองที่บ้านเชียงแหว ระยะทางห่างจากเมืองกุมภวาปี 200 เส้น มีเกาะในหนองหาน เรียกกันว่า “เกาะดอนแก้ว” มีหมู่บ้านและวัดบนเกาะนั้นด้วย น้ำหนองหารที่ไหลลงปาวไปตกลำพาชี เมืองกุมภวาปีมีราษฎรอยู่ประมาณ 6,000 คน มีชาวเมืองนครราชสีมา มาตั้งทำมาค้าขายอยู่หลายครัว…” (อ.ทองไสย์ โสภารัตน์)
ในปี พ.ศ. 2440 รัชการที่ 5 โปรดเกล้าฯให้กระทรวงมหาดไทย รวมเมืองกุมภวาปี หนองหาน หนองบัวลำภู และบ้านหมากแข้ง ตั้งขึ้นเป็นจังหวัดอุดรธานี เมืองกุมภวาปี จึงมีฐานะเป็นอำเภอ ขึ้นตรงต่อจังหวัดอุดรธานี โดยมีที่ว่าการอำเภอกุมภวาปี ตั้งอยู่ที่บริเวณโรงเรียนชุมชนบ้านน้ำฆ้อง(โรงเรียนอนุบาลกุมภวาปี-ปัจจุบัน) ตำบลพันดอน ปัจจุบันชาวบ้านนิยมเรียกว่า “เมืองเก่า” และมีพระประสิทธิสรรพกร(บุปผา สีหะไตร) เป็นนายอำเภอคนแรก แบ่งการปกครองออกเป็น 5 ตำบลใหญ่ คือ ตำบลปะโค ตำบลพันดอน ตำบลอุ่มจาน ตำบลตูมใต้ และตำบลแชแล มีกำนันตำบลต่างๆ ตามลำดับดังนี้
- ตำบลปะโค ขุนปะโคคุณากร
- ตำบลพันดอน ขุนพันดอนดิสาร
- ตำบลอุ่มจาน ขุนอินทร์อุ่มจาน
- ตำบลตูมใต้ ขุนตูมคามิน
- ตำบลแชแล ขุนระบิลแชแล
ต่อมาระหว่าง พ.ศ. 2468-2472 ร.อ.อ.หลวงนิคมพรรณาเขต (เขียน สีหะอำไพ)นายอำเภอคนที่ 9 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอกุมภวาปีจากบ้านน้ำฆ้อง มาตั้งที่บ้านดงเมือง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “เมืองใหม่” ตำบลตูมใต้ (ตำบลกุมภวาปี ในบัจจุบัน) โดยมีเหตุผล 4 ประการคือ
- เพราะที่ตั้งเมืองเก่าเป็นที่ลุ่ม ถูกน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก และขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง
- เพราะที่ตั้งเมืองใหม่ น้ำท่วมไม่ถึง ประกอบกับตั้งอยู่ริมน้ำปาว มีความอุดมสมบูรณ์ตลอดปี
- เพราะที่ตั้งเมืองใหม่ เป็นศูนย์กลางของทุกตำบล เหมาะแก่การขยายชุมชนใหม่ในอนาคต
- เพื่อสร้างเมืองใหม่รองรับกับทางรถไฟสายใหม่ ที่แยกจากเส้นทางอุดรธานีผ่านบ้านดงเมือง สู่สกลนครและนครพนม
ต่อมาเมืองกุมภวาปีได้เจริญได้แตกเมืองต่างๆออก ดังนี้
- แยกเป็นกิ่งอำเภอและเป็นอำเภอศรีธาตุ ปี พ.ศ. 2511
- แยกเป็นกิ่งอำเภอและเป็นอำเภอโนนสะอาด ปี พ.ศ. 2515
- แยกเป็นกิ่งอำเภอและเป็นอำเภอวังสามหมอ ปี พ.ศ. 2518
- แยกเป็นกิ่งอำเภอและเป็นอำเภอหนองแสง ปี พ.ศ. 2522
- แยกเป็นกิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคาร ปี พ.ศ. 2540
คำขวัญอำเภอกุมภวาปี : “กุมภวาปี เมืองน้ำตาล อุทยานวานร ดอนแก้วพุทธสถาน หนองหานสายธารแห่งชีวิต ธรรมชาติวิจิตรทะเลบัวแดง”
ที่มา และ รูปภาพ : ดร.กัลยา มิขะมา / วิกิพีเดีย